การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสังเคราะห์หลักสูตรระดับปริญญาตรีที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสารสนเทศในประเทศไทยและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีการวิเคราะห์เอกสาร (Content Analysis) จากหลักสูตร เว็บไซต์ และเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการวิจัยมี 3 ข้อดังนี้ 1) หลักสูตรที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรีในประเทศไทย มีทั้งหมด 34 หลักสูตร ใช้ชื่อที่แตกต่างกัน 9 สาขาวิชา แบ่งเป็นกลุ่มสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ จำนวน 9 หลักสูตร กลุ่มสาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์ จำนวน 19 หลักสูตร และกลุ่มสาขาวิชาการจัดการสารสนเทศ จำนวน 6 หลักสูตร ส่วนมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนจำแนกเป็น มหาวิทยาลัยของรัฐที่เปิดสอนมี 8 แห่ง มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่เปิดสอนมี 7 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏที่เปิดสอนมี 16 แห่ง และมหาวิทยาลัยเอกชนที่เปิดสอนมี 3 แห่ง 2) โครงสร้างหลักสูตรของหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสารสนเทศ ส่วนใหญ่กำหนดจำนวนหน่วยกิตวิชาบังคับตั้งแต่ 31-46 หน่วยกิต (ร้อยละ 52.94) และกำหนดจำนวนหน่วยกิตวิชาเลือกตั้งแต่ 22-32 หน่วยกิต (ร้อยละ 29.41) 3) รายวิชาในหลักสูตรที่เกิดจากการสังเคราะห์ทั้ง 3 กลุ่มสาขาวิชา พบว่ามีรายวิชาที่มีการจัดการเรียนการสอนเหมือนกันอยู่ 9 รายวิชา ได้แก่ (1) วิชาการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ (2) วิชาการทำรายการทรัพยากรสารสนเทศ (3) วิชาการบริการสารสนเทศ (4) วิชาการจัดระบบทรัพยากรสารสนเทศ (5) วิชาการจัดเก็บและการค้นคืนสารสนเทศ (6) วิชาการจัดการฐานข้อมูล) (7) วิชาการวิจัยทางสารสนเทศศาสตร์ (8) วิชาการจัดการองค์กรสารสนเทศ และ (9) วิชาภาษาอังกฤษสำหรับวิชาชีพสารสนเทศ
นุจรินทร์ ปทุมพงษ์ และ ชลภัสส์ วงษ์ประเสริฐ (2558) การจัดการเรียนการสอนวิชาสารสนเทศศาสตร์ในประเทศไทย. วารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 มกราคม –เมษายน 2558. หน้า 172-186.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น